ปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในพระอุโบสถ

     

๑.บุษบกทองคำทรงพระแก้วมรกต สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ซึ่งทรงเป็นช่างเอกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ๖ และ ๗ ทรงเขียนไว้ว่า “ทำด้วยความตั้งใจ เป็นงามที่หนึ่ง ซึ่งเห็นในกรุงรัตนโกสินทร์” เดิมสมัยรัชกาลที่ ๑ บุษบกทองคำเหนือฐานชุกชี(ฐานชั้นล่าง) รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้นำชั้นเบญจาที่เคยรองรับพระโกศพระบรมศพรัชกาลที่ ๒ มาหนุนบุษบกให้สูงสมทรงพระอุโบสถขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

๒.บานทวาร(ประตู)ประดับมุก สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ “เป็นฝีมือที่น่าชมอย่างยิ่ง เห็นว่าตั้งใจทำแข่งขันกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอดในวัดนี้เองคู่หนึ่ง อยู่ที่วัดพระมหาธาตุ(วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ) เมืองพิษณุโลกอีกคู่หนึ่ง”

๓.พระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระพุทธเลิศหล้านภาลัย สองพระองค์นี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้าง(ประมาณว่าในปลายปี พ.ศ. ๒๓๘๕ หรือต้นปี พ.ศ. ๒๓๘๖ เพราะพบหมายรับสั่งเกณฑ์อิฐก่อสร้างตั้งพระพุทธรูป ๒ พระองค์นี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๖) เป็นพระพุทธรูปยืนสูง ๖ ศอก(๓ เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เป็นแกนใน แล้วหุ้มทองคำหนักพระองค์ละ ๖๓ ชั่ง ๑๔ ตำลึง(ราว ๗๓ กิโลกรัม) ทรงเครื่องต้นอย่างพระเจ้าจักรพรรดิลงยาราชาวดี ประดับด้วยนวรัตน์มีค่า พระองค์อยู่ฝ่ายเหนือทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอัยกาธิราชจักรพรรดินาถบพิตร พระองค์อยู่ฝ่ายใต้ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระชนกนาถธรรมิกราชบพิตร ดังนี้แล้วได้พร้อมพระราชหฤทัยกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลือกพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระพุทธรูปทั้ง ๒ พระองค์ แล้วมีการสมโภชเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ในสมัยนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างหนึ่งด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายเมื่อกล่าวถึงรัชกาลที่ ๑ มักเรียกว่า “แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหรือแผ่นดินก่อน” ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๓ มีรัชกาลที่เป็นอดีตคือรัชกาลที่ ๒ จึงเกิดเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินต้น” เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินกลาง” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัยทรงพระราชดำริว่า “ถ้ารัชกาลที่ ๑ เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ ๓ จะต้องเป็นแผ่นดินปลาย เป็นอัปมงคล” จึงโปรดฯ ให้ประกาศให้เรียกนามอดีตรัชกาลตามนามพระพุทธปฏิมากร ๒ พระองค์นี้ คือเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ต่อมาครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ อดีตรัชกาลเพิ่มขึ้นเป็น ๓ พระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ควรจะมีพระนามสำหรับเรียกเสียทั้งอดีตและปัจจุบันรัชกาล จึงโปรดฯ ให้เรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” และส่วนพระองค์เรียกพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ดังนี้
อนึ่งประเพณีแต่เดิมมา ในการพระราชพิธีศรีสัจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละ ๒ ครั้งนั้น ทำตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือข้าราชการถือน้ำกันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว เข้าไปถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มิได้เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับให้ถวายบังคม ที่ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยตรงพระราชปรารภเนื่องถึงพระพุทธรูปทั้ง ๒ พระองค์นั้นด้วย มีความกล่าวไว้ในประกาศดังนี้
“แต่ก่อนๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเคยเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปทั้ง ๒ พระองค์ที่ทรงพระนามพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นไว้ฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชและพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทั้ง ๒ พระองค์ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนพระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นพระฉลองพระองค์สมเด็จพระรามาธิบดีอันเป็นปฐมบรมราชาธิราชในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เป็นปฐมบรมราชาธิราชในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานครนี้และในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเล่า เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จมาปราดาภิเษกนั้นก็ได้เสด็จพระราชดำเนินตามเสด็จมาพร้อมกันแต่เดิมพระองค์เดียว ไม่มีเจ้านายพระองค์อื่นเหมือนเลย ควรจะมีพระเกียรติยศอยู่พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วยกัน เพราะเหตุที่ทรงเคารพแด่พระพุทธปฏิมากร ที่ทรงพระราชอุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์นั้นดังนี้ จึงทรงพระราชอุสาหะเสด็จพระราชดำเนินออกมาให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ถวายบังคมพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพร้อมกัน” การที่เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงานพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจึงเป็นประเพณีสืบมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงยกเลิกงานพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเสีย

๔.พระสัมพุทธพรรณี เป็นพระสมาธิหล่อกระไหล่ทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ ครั้งยังทรงผนวชเสด็จประทับที่วัดสมอราย(วัดราชาธิวาส) ตามตามแบบอย่างพุทธลักษณะซึ่งทรงสอบสวนได้(คือไม่พระเกตุมาลาหรือเมาลี เหนือพระเศียรก็ถึงพระรัศมีทีเดียว จีวรเป็นริ้ว ทรงแสดงปางสมาธิ และประทับนั่งขัดสามธิราบ) สำเร็จแล้วจึงทรงบรรจุดวงพระชนมพรรษา และพระสุพรรณบัตร ถวายพระนามว่า “พระสัมพุทธพรรณี” ภายหลังเพิ่มบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งมีปาฏิหาริย์ประดิษฐานไว้ในพระตำหนักเป็นที่ทรงนมัสการและเป็นหอสวดมนต์ของพระสงฆฆ์คณะธรรมยุติกนิกายตลอดมา  จนกระทั่งเสด็จพระราชดำเนินไปประทับวัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงโปรดให้เชิญไปตั้งในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เสร็จการพระราชพิธีแล้ว โปรดฯ ให้เชิญไปตั้งประดิษฐานบนฐานชุกชีพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แทนที่พระพุทธสิหิงค์ซึ่งเชิญขึ้นไปไว้ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระบวรราชวังซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

๕.พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ๑๐ พระองค์หล่อด้วยสัมฤทธิ์หุ้มทองคำซึ่งตั้งอยู่เป็นคู่ๆเหนือพระเบญจารองรับบุษบกทองคำทรงพระแก้วมรกตพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีโปรดฯให้สร้างขึ้นอุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์และเจ้านายในพระราชวงศ์มาโดยลำดับหลังจากสวรรคตและสิ้นพระชนม์แล้วดังต่อไปนี้คือ

๑.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

๒.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรพระองค์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชการที่ ๑

๓.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๑

๔.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑

๕.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

๖.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลที่ ๒

๗.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข วังหลังในรัชกาลที่ ๑

๘.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑

๙.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานปูนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๓

๑๐.)องค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานปูนด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓

มีข้อสังเกตคือ พระพุทธรูปที่ครองจีวรปลายแผ่ออกทั้งสองข้าง เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์หรือพระบรมราชวงศ์ฝ่ายหน้า ถ้าจีวรลีบตามรูปพระชงฆ์ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบรมราชวงศ์ฝ่ายใน

๖.จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ เข้าใจว่าภาพไตรภูมิในพุทธศาสนา(กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ) บนผนังทิศตะวันตกหลังพระแก้วมรกตและภาพปางมารวิชัยบนผนังด้านหน้าทางทิศตะวันออกนั้นคงเขียนมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ในสมัยนั้นบนผนังด้านข้างทั้งสองข้าง ทางด้านบนเหนือหน้าต่างคงเขียนภาพชุมนุมตามความนิยมในสมัยปลายสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ บนผนังหว่างหน้าต่างเขียนภาพปฐมสมโพธิคือพุทธประวัติ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้เขียนภาพบนฝาผนังด้านข้างใหม่ ทางด้านบนเหนือหน้าต่างทั้งทิศเหนือและทิศใต้เขียนภาพปฐมสมโพธิหว่างหน้าต่างเขียนภาพชาดกต่างๆ คือ ประวัติชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้า ตอนล่างติดกับพื้นทางด้านเหนือเขียนภาพกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ทางด้านใต้เขียนภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ภาพต่างๆ เหล่านี้ยังคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

๗.สิงห์สัมฤทธิ์ทวารบาล มีทั้งหมด ๖ คู่หรือ ๑๒ ตัว เชื่อกันว่าคู่ที่ตั้งอยู่ ๒ ข้างพระทวารกลางทางด้านทิศตะวันออกเป็นฝีมือช่างขอมที่รัชกาลที่ ๑ โปรดฯ ให้ย้ายมาจากประเทศกำพูชา ส่วนอีก ๕ คู่หรือ ๑๐ ตัวหล่อเลียนแบบขึ้นในสมัยนั้น อย่างไรก็ดีศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่(Boisselier) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญศิลปะขอมได้มาพิจารณาดูแล เห็นว่าลวดลายบนอกสิงห์คู่กลางทางด้านทิศตะวันออกนี้เป็นศิลปะไทยมากกว่าศิลปะขอมเหตุนั้นคงจะเป็นช่างไทยหล่อเลียนแบบศิลปะขอมมากกว่า ข้อนี้ยังคงต้องสืบค้นกันต่อไป ด้านข้างบันไดใหญ่หน้าปราสาทพระเทพบิดรทางทิศตะวันออก บนพื้นชั้นล่างทางด้านเหนือและใต้มีสิงห์ศิลา ๒ ตัวเป็นสิงห์ขอมสมัยบายน(ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘) อย่างแน่นอน แต่ก็ได้รับการซ่อมเสียมากแล้ว อาจเป็นสิงห์คู่นี้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงนำมาแต่ประเทศกำพูชาก็ได้ ส่วนสิงห์สัมฤทธิ์ ๑๒ ตัวนั้นคงเป็นช่างไทยหล่อเลียนแบบขึ้น

    กลับหน้าหลัก
    ถัดไป